หลวงปู่เผือก(วัดสาลีโข)

หลวงปู่เผือก (พระครูธรรมโกศล) วัดสาลีโขภิตาราม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นชาวเมืองพระนครศรีอยุธยา มิได้ปรากฏหลักฐานว่าบิดามารดา ของท่านมีชื่อเสียง เรียงนามว่ากระไร และตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลไหน ทราบแต่ว่า ตอนที่ หลวงปู่เกิด ท่านเป็นเด็กผิวขาวจัดจนผิดปกติกว่าเด็กทั่วไป บิดามารดาจึงตั้งชื่อตามนิมิตว่า “เผือก” เพื่อให้ตรงกับผิวพรรณของท่าน

พออายุ ๑๓ ขวบ เด็กชายเผือก ได้บรรพชาเป็น สามเณร ณ วัดใกล้บ้าน เริ่มศึกษา อักขรสมัยในสำนักวัดนั้น จนแตกฉานพอสมควร ก็สนใจศึกษาคาถา เวทมนตร์ต่างๆ ต่อมาได้เข้ามาศึกษาในสำนักวัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อ ที่สุดในยุคนั้น

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดป่าแก้ว และอยู่จำพรรษาตลอดมา จนกระทั่ง กรุงศรีอยุธยา ต้องเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐

ด้วยชื่อเสียงและเกียรติคุณที่หลวงปู่เผือกมีต่อประเทศชาติบ้านเมือง พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงสนพระทัยการศาสนาเป็นพิเศษ และทรง ทราบเกียรติคุณ ของหลวงปู่เผือกมาก จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์ถวายหน้าที่ให้เป็น “พระครูสังฆปาโมกข์” เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙ โดยได้รับพระราชทินนามว่า “พระครูธรรมโกศล” รวมทั้งได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดสาลีโข

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงปู่เผือกเป็นพระเถระผู้มักน้อย นิยมสันโดษ และยินดีเจริญสมณธรรม อยู่ในเสนาสนะอันสงบ สงัดตามป่าเขา ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยได้บรรลุผลตามสมควร พร้อมทั้งเป็นผู้คงแก่เรียนในพุทธศาสตร์วิทยาคมชั้นสูง รอบรู้ตำรับพิชัยสงคราม และศาสตร์อื่นๆ อีกนานาประการ ชอบออกปฏิบัติธุดงควัตรเป็นนิจมิได้ขาด

หลวงปู่เผือกได้ปฏิบัติพระศาสนาอย่างขยันขันแข็งจริงจังมาโดยตลอด จนถึงรัชกาล ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในรัชกาลนี้ปรากฏว่าหลวงปู่ชราภาพมากแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาในยุคก่อนๆ ที่เคยเรียกท่านว่า “ท่านอาจารย์เผือก” บ้าง “หลวงพ่อเผือก” บ้าง คนรุ่นพ่อเขาเรียกท่านว่า “หลวงพ่อเผือก” คนรุ่นหลังซึ่งเป็นรุ่นลูกหลาน ก็จึงเรียกท่านว่า “หลวงปู่เผือก” และเรียกนามนี้สืบต่อกันมาจนปัจจุบันนี้ แม้จะเป็นเวลา ๒๐๐ ปีเศษแล้วก็ตาม

หลวงปู่เผือกมรณภาพในสมัยรัชกาลที่ ๕ ขณะมีอายุได้ ๑๐๖ ปี

วัดสาลีโขในยุคแรกที่หลวงปู่เผือกปกครองวัด เป็นยุคที่เจริญที่สุด มีพระภิกษุสามเณร และลูกศิษย์ลูกหามากมาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรง สนพระทัยในวัดสาลีโขมาก ถึงกับทรงปรารภกับหลวงปู่ว่าอยากจะเปลี่ยนนาม ของวัดนี้เสียใหม่ให้มีความหมายในทางธรรมให้ตรงกับปฏิปทาของท่าน พระครูธรรมโกศลที่สุด โดยรักษาเสียง ของนามเดิมไว้ ถึงกับทรงมีพระราชดำริ ให้ใช้ชื่อว่า “วัดสัลเลโข” หมายถึงวัดที่ปฏิบัติเพื่อการ “ขัดเกลา” หรือ “กล่อมเกลากิเลสทั้งปวง” แต่ได้ทราบว่าหลวงปู่ท่านกราบทูลแย้งว่า “ของเก่าเขาดีแล้ว” เรื่องนี้ก็จึง เป็นอันพับไป คงใช้เป็นชื่อวัดสาลีโขสืบมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ในอดีต ชุมชนย่านวัดสาลีโข ขึ้นชื่อว่าเป็นดงนักเลง ถึงกับมีคำพูดกันติดปากว่า “หนังไม่เหนียวห้ามเที่ยวสาลีโข” ซึ่งทุกวันนี้หากเซียนพระพูดถึงวัตถุมงคล วัดสาลีโข ก็จะนึกถึงประโยคนี้ด้วย

วัตถุมงคลวัดสาลีโข มีหลายรุ่น แต่มีเหรียญที่พิเศษและแปลกกว่าเหรียญทั่วๆ ไป คือ เหรียญปั๊มใหญ่ รูปสี่เหลี่ยม มีการเขียนอักขระเลขยันต์ไว้จำนวนมาก ในขณะที่การสร้างเหรียญทั่วๆ ไปจะมีการเขียนยันต์หลักๆ ไม่กี่ตัว เช่น ยันต์ นะ โม พุท ธา ยะ ยันต์ มะ อะ อุ ยันต์ อุ อา กา สะ ยันต์ อิ กะ วิ ติ และ ยันต์ สัม มา อะ ระ หัง เป็นต้น

จากการอ่านเรียงแถวของยันต์ที่ปรากฏบนเหรียญหลวงปู่เผือก พอคาดคะเนว่า “น่าจะเป็นยันต์เฉพาะของหลวงปู่เผือก” อย่างไรก็ตาม เมื่อนำยันต์บนเหรียญ ไปเปรียบเทียบกับพระคาถาคงกระพัน ซึ่งคุณประจวบ สาเกตุ ได้รวบรวมและ เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “อภินิหารหลวงปู่เผือก” พร้อมกับบอกคำอธิบายไว้ว่า “บริกรรมคาถานี้ เมื่อจะเข้าสู้ด้วยศัตรูหมู่พาล” ผลของการภาวนา “อยู่คงแล” คาถาที่ว่า คือ

“นะ อิ เพชรคง อะระหัง สุคะโต ภะคะวา

โม ติ พุทธะสัง อะระหัง สุคะโต ภะคะวา

พุท ปิ อิสวาสุ อะระหัง สุคะโต ภะคะวา

ธา โส มะอะอุ อะระหัง สุคะโต ภะคะวา

ยะ ภะ อุอะมะ อะระหัง สุคะโต ภะคะวา”

บรรยายภาพด้านหน้าเหรียญ

๑.นะ อิ เพชชคัง อะระหัง สุคะโต มีพุทธคุณด้าน คงกระพัน

๒.ภะ คะวา โม อิ พุท สัง อะระหัง มีพุทธคุณด้าน คุ้มครอง เมตตา

๓.สุ คะ โต ภะคะวา พุทปิ มีพุทธคุณด้าน ป้องกันภัยต่างๆ

๔.อิสวาสุ อะระหัง สุคะโต มีพุทธคุณด้าน ทุกด้าน

๕.ภะคะวา ยะ พะอุอะมะ มีพุทธคุณด้าน ป้องกันภัย

๖.อะระหัง สุคะโต ภะคะวา มีพุทธคุณด้าน ทุกด้าน

๗.ภะคะวา คั่นกลางด้วยตัวเฑาะว์ และปิดท้ายด้วย มะอะอุ ตรงหางราชสีห์ มีพุทธคุณด้าน ป้องกันภัยและอำนาจ

๘.พมะ (พรหม) สัพเพชนา นะมะพะทะ อะนัตตา (อักขระไม่ชัดอ่านอาจผิด) มีพุทธคุณด้าน เมตตา ค้าขาย

๙.สุคะโต (สุคะตา) “ปาสุอุชา” มีพุทธคุณด้าน เมตตาคุ้มครอง มีพุทธคุณทุกด้าน

๑๐.นะชา ลิติ (หัวใจพระฉิม) ทางลาภ, ภะคะวา มีพุทธคุณด้านเมตตา มหาลาภ

๑๑.อัด อุด จิเจรุนิ (นะ) ไม่ค่อยชัด มีพุทธคุณด้าน คุ้มครองป้องกันภัย

๑๒.นะมะพะทะ และตัวเลข ๖ ๗ ๕ ๑ ๘ ๒ ลงแทน คาถา เช่น หมายเลข ๑ ลงแทนคาถา เอ กะ อะ มิ หมายเลข ๒ ลงแทนคาถา พุทโธ เป็นต้น

บรรยายภาพด้านหลัง

๑.ยันต์นะโมพุทธายะ หรือเรียกว่า พระเจ้าห้าพระองค์ ซึ่งเป็นแม่ธาตุใหญ่ใช้ได้สารพัด

๒.ยันต์เฑาะว์ การเขียนในอักษรธซ้ายขวาในลักษณะนี้เรียกว่า เฑาะว์ล้อม

๓.ยันต์นะทรหด

๔.ยันต์อุ ซึ่งหมายถึง อุณาโลม

๕.ยันต์ตะบอก

๖.ยันต์หะวะรัง ซึ่งมีคำภาวนาเต็มๆ ว่า หะวะรัง หะวะรัง รักกัน สรณัง คัจฉามิ

๗.ยันต์พุทล้อม

๘.ยันต์ธะวะรัง ซึ่งมีคำภาวนาเต็มๆ ว่า ธะวะรัง ธะวะรัง รักกัน สรณัง คัจฉามิ

๙.ยันต์กำลังอำนาจราชสีห์ อ่านว่า เอหิ เอหิสิโฆสัง โฆนาหิ สุนังนะสามา หิสะนัง สมิ สุ

ใส่ความเห็น